เปิดร้านอาหาร เริ่มยังไง? คู่มือสำหรับเจ้าของร้านมือใหม่ ฉบับทำได้จริง

0
4416

ต้องยอมรับว่าช่วงหลายปีหลังมานี้หลายคนหันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น และหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความสนใจและเป็นความฝันของใครหลายคนมากที่สุดก็คือ เปิดร้านอาหาร เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารแบบฮิป ๆ ทันสมัย ไปจนถึงการเปิดร้านอาหารตามสั่ง แถมมือใหม่อยากเปิดร้านอาหารก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

วันนี้เราจึงได้รวบรวม 9 ขั้นตอนการเปิดร้านอาหารสำหรับเจ้าของร้านมือใหม่ เพื่อเป็นคู่มือและแนวทางเปิดร้านอาหารสำหรับคนมีความฝันทุกคนค่ะ

เปิดร้านอาหาร ขั้นตอนสำหรับมือใหม่

เปิดร้านอาหาร สำหรับมือใหม่ ต้องรู้อะไรบ้าง

1. คู่มือเปิดร้านอาหาร : กำหนดคอนเซ็ปต์ของร้าน

คอนเซ็ปต์ของร้านคืออะไร? สิ่งนี้คือคำถามที่เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน เพราะหากร้านไม่มีแนวทางที่ชัดเจน การควบคุมคุณภาพ ปริมาณ วัตถุดิบ ไปจนถึงงบประมาณก็จะทำได้ยากขึ้นตามไปด้วย แถมยังทำให้ลูกค้าสับสนอีกต่างหากว่า “ร้านนี้ขายอะไรกันแน่?”

เพราะฉะนั้นเลือกคอนเซ็ปต์ร้านให้ชัดก่อนเปิดร้านอาหาร อาจจะเลือกจากแนวทางที่เราถนัดที่สุด เช่น เปิดร้านอาหารตามสั่ง กับข้าวแบบไทย ๆ ยอดนิยม เปิดร้านขายข้าวต้ม เปิดร้านขายส้มตำ หรือจะเปิดร้านขายอาหารฟิวชั่นไทยผสมฝรั่งแบบที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ แนวทางที่ชัดเจนคือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดของการเปิดร้านอาหารค่ะ

เปิดร้านอาหาร ทำเลต้องดี

2. คู่มือเปิดร้านอาหาร : ทำเลต้องดี

ทำเลคือสิ่งสำคัญอันดับสองที่เราต้องเลือกให้ดี เพราะทำเลดีช่วยให้เรามีชัยไปกว่าครึ่ง การเลือกทำเลที่ดีนั้นช่วยเพิ่มโอกาสในการขายให้กับเรา เช่น ทำเลใกล้โรงเรียน แหล่งชุมชน ในห้างสรรพสินค้า หรือใกล้อาคารสำนักงาน เป็นต้น

แต่นอกเหนือจากการเลือกทำเลใกล้จุดยุทธศาสตร์แล้ว อย่าลืมสำรวจด้วยนะคะว่าพื้นที่บริเวณนั้นมีคู่แข่งมากน้อยแค่ไหน ยิ่งคู่แข่งน้อยโอกาสของเราก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น

เปิดร้านอาหาร ชื่อร้านต้องจำง่าย

3. คู่มือเปิดร้านอาหาร : เลือกชื่อร้านให้เป็นที่จดจำ

ชื่อร้านอาหารใครว่าไม่สำคัญ เพราะชื่อร้านที่ดีจะช่วยให้ลูกค้าจดจำแบรนด์หรือร้านของเราได้ง่ายขึ้น ยิ่งเรียกได้คล่องติดปากก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าเลือกมาหาเรามากกว่าร้านอื่น

การตั้งชื่อร้านไม่จำเป็นต้องแปลก แหวกแนว หรือเลิศหรูเสมอไป อาจเป็นชื่อง่าย ๆ อย่างเช่น ร้านป้าแมว ตามสั่ง ที่บอกชื่อแม่ครัวพร้อมคอนเซ็ปต์ของร้านไปพร้อมกัน ทำให้ลูกค้ารู้ว่า วันนี้เราจะมากินอาหารฝีมือป้าแมว เป็นร้านอาหารตามสั่งที่เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย แถมยังช่วยเพิ่มความรู้สึกใกล้ชิดระหว่างเรากับลูกค้าเพราะมีการแทนตัวเองว่าป้า ช่วยเพิ่มความเป็นกันเอง

เห็นไหมคะว่าชื่อร้านอาหารบอกอะไรมากกว่าที่คิด ถึงแม้จะเป็นชื่อที่ดูเรียบง่ายก็ตาม

เปิดร้านอาหาร ต้องมีเงินทุนและแผนธุรกิจ

เปิดร้านอาหารอย่ามองข้ามเรื่องสำคัญอย่าง “เงิน”

4. คู่มือเปิดร้านอาหาร : หาเงินทุน

ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรการหาเงินทุนก็เป็นสิ่งสำคัญเสมอ การเปิดร้านอาหารเองก็เช่นกัน เราอาจใช้เงินเก็บสะสมหรือเงินกู้จากธนาคารก็ได้ แต่อย่าลืมว่านอกจากเงินลงทุนก้อนแรกที่ใช้เป็นค่าสถานที่ อุปกรณ์ วัตถุดิบ ค่าจ้างพนักงาน ไปจนถึงค่าใช้จ่ายจิปาถะแล้ว อย่าลืมเผื่อเงินทุนสำรองเอาไว้อย่างน้อย 3 เดือนเพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ด้วย

5. คู่มือเปิดร้านอาหาร : เขียนแผนธุรกิจ

ใครว่าการเปิดร้านอาหารไม่จำเป็นต้องมีแผนธุรกิจ เพราะแผนธุรกิจเปรียบเหมือนเข็มทิศการทำร้านอาหารของเราไม่ต่างจากการขายของหรือทำธุรกิจประเภทอื่น

ไม่จำเป็นต้องเขียนแผนธุรกิจให้ยุ่งยากซับซ้อน ขอแค่เราเขียนจุดประสงค์การเปิดร้านอาหาร เป้าหมายที่วางไว้ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว งบประมาณ ต้นทุน รายรับ-รายจ่าย ประมาณการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และนำผลประกอบการที่ได้มาเปรียบเทียบกับแผนธุรกิจเป็นระยะเพื่อปรับปรุงการดำเนินการ เท่านี้ก็ใช้ได้แล้วค่ะ

เปิดร้านอาหารต้องออกแบบและตกแต่งให้ดูดี

6. คู่มือเปิดร้านอาหาร : ออกแบบและตกแต่งร้านให้ดูดี

การออกแบบร้านก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะทุกวันนี้โลกของเราขับเคลื่อนไปด้วยโซเชียลมีเดียที่คนชอบการแชะและแชร์ การสร้างโลเกชั่นดี ๆ ให้คนอยากถ่ายรูปจึงเป็นสิ่งสำคัญ

หากเป็นร้านอาหารสมัยใหม่ คุณอาจเลือกโทนและดีไซน์ของร้านให้ดูชิค ๆ มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เป็นไสตล์ของตัวเองไปเลย หรือหากเป็นร้านอาหารตามสั่งแบบบ้าน ๆ ก็ควรเน้นความสะอาด โล่ง โปร่ง ดูสบายตาและมีสุขอนามัยที่ดี เท่านี้ก็ชวนให้ลูกค้าอยากถ่ายภาพอาหารหรือเช็กอินลงโซเชียลแล้วค่ะ

เปิดร้านอาหารเมนูประจำร้านต้องอ่านง่าย

7. คู่มือเปิดร้านอาหาร : เมนูอาหารต้องสวยงาม อ่านง่าย บอกรายละเอียดครบ

เมนูอาหารเป็นมากกว่ารายการอาหารและตัวบอกราคาให้ลูกค้ารับรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนตัวแทนของร้านเราอีกด้วย การเปิดร้านอาหารจึงต้องให้ความเอาใจใส่กับการออกแบบเมนูให้มากเข้าไว้

อาจเริ่มจากการแยกประเภทอาหารต้ม ผัด แกง ทอด อาหารแนะนำยอดฮิต บอกชื่อเมนูพร้อมราคาให้ชัดเจน หากสามารถเพิ่มภาพประกอบสวย ๆ ดูน่ากินเข้าไปด้วยสัก 5-6 รูปก็จะช่วยเพิ่มสีสันให้กับเมนูอาหารของเรามากขึ้น อย่าลืมบอกเมนูเครื่องดื่ม ของหวาน หรือรายละเอียดออพชั่นเสริมต่าง ๆ ให้ครบถ้วนด้วย

เปิดร้านอาหารต้องคัดเลือกพนักงานคุณภาพ

8. คู่มือเปิดร้านอาหาร : การเลือกพนักงาน

แน่นอนว่าการเปิดร้านอาหารคุณไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว หากคุณนั่งโต๊ะบริหารอย่างเดียว สิ่งทีต้องหาก็คือแม่ครัว พนักงานเสิร์ฟ และอาจรวมไปถึงพนักงานล้างจาน-ทำความสะอาด หากคุณลงมือทำอาหารเองด้วยก็ยังคงต้องใช้พนักงานคนอื่น ๆ มาแบ่งเบาภาระอยู่ดี

การเลือกพนักงานให้พิจารณาจากขนาดร้านเป็นหลัก หากเป็นร้านอาหารขนาดเล็กพนักงานก็ไม่จำเป็นต้องมีเยอะ แต่ถ้าร้านอาหารขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ จำนวนของพนักงานเป็นเรื่องสำคัญมากเพื่อให้การบริการครอบคลุมและรวดเร็ว

เปิดร้านอาหารต้องทำการตลาดแบบมืออาชีพ

9. คู่มือเปิดร้านอาหาร : ทำการตลาดแบบมืออาชีพ

ไม่จำเป็นต้องเรียนจบการตลาด ก็สามารถทำตลาดให้กับร้านอาหารของคุณได้ด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ นั่นก็คือการใช้เครื่องมือฟรีแถมยังทรงพลังอย่างสื่อโซเชียลมีเดียนั่นเองค่ะ

อาจจะเริ่มจากการเปิดเพจเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมเพื่อใช้เป็นช่องทางสื่อสารกับลูกค้า ลงรูปเมนูอาหารแบบสวย ๆ แชร์บรรยากาศในร้าน และเพื่อเป็นจุดหมายให้ลูกค้าได้เช็กอินกันเวลามาอุดหนุน จากนั้นจึงทำโปรโมชั่นอย่างกดไลก์ กดแชร์ เพื่อให้ลูกค้าช่วยประชาสัมพันธ์ร้านให้เราทางอ้อมก็เป็นการตลาดที่ดีเช่นกัน

เปิดร้านอาหารของตัวเองใคร ๆ ก็ทำได้

เปิดร้านอาหาร ของตัวเองอาจดูยากในตอนแรก แต่หากเราเริ่มต้นอย่างถูกวิธี มีการวางแผนที่ครอบคลุม เพียงเท่านี้คุณก็พร้อมสานฝันในการเปิดร้านอาหารของตัวเองแล้วค่ะ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here